วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

'BIG TIGER' แผ่นเสียงไม่ทิ้งลาย

'BIG TIGER' แผ่นเสียงไม่ทิ้งลาย

แผ่นเสียงเก่า,bigtiger,จตุจักร
'BIG TIGER' แผ่นเสียงไม่ทิ้งลาย
การมาสวนจตุจักรในวันนี้ ผมตั้งใจมาหาเสียง ... เฮ้ย! ไม่ใช่ ส.ส. แต่ผมมาหาแผ่นเสียงเพลงในดวงใจ หากไม่เจอก็คิดเสียว่า มาเดินเล่นก็เท่านั้น สวนจตุจักรเป็นศูนย์การค้าที่นิยมของคนไทยและต่างชาติ ขึ้นชื่อเรื่อง เสื้อผ้า รองเท้า และอีกมากมาย ด้วยราคาที่ถูกบวกกับตัวเลือกที่เยอะจนแทบจะครบวงจร เรียกได้ว่า ไม้จิ้มฟันไปถึงเรือรบรัสเซียก็อาจจะหาได้จากที่นี่ ในขณะที่บ้านเมืองกำลังชัตดาวน์ แต่ผมยังฝ่าฟันหาแผ่นเสียง โดยไม่คิดไม่ฝันว่าจะมาเจอร้านแผ่นเสียงเล็กๆ แต่แสนคลาสสิค ที่มีชื่อว่า BIG TIGER ผมได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน 
สุธล บุญดง อายุ 39 ปี หรือ ‘พี่ชล’ ข้าราชการหนุ่มจากกรมปศุสัตว์ ในคราบนักขายแผ่นเสียงที่หลงใหลในเสียงเพลง พรหมลิขิตทำให้พบกับร้านนี้เพราะพี่ชลดันเปิดเพลงของ
คุณ จรัล มโนเพ็ชร (จำเสียงร้องได้แต่จำชื่อเพลงไม่ได้) ร้านพี่ชลไม่ใหญ่โตนัก แผ่นเสียงถูกจัดเรียงเพลงไว้ในลังไม้ ได้บรรยากาศเหมือนของเพิ่งส่งข้ามเรือมา การแยกแผ่นเสียงหาง่ายเพราะแบ่งฝั่งไทยและเทศ ชั้นโชว์ในร้านถูกวางด้วยแผ่นเสียง เด่นๆ ทั้งแนวลูกทุ่งบวกสตริงยุค 70s, 80s 
เมื่อได้พูดคุยกับพี่ชลจึงได้รู้ว่า ชื่อร้าน BIG TIGER มีที่มาจากซอยเสือใหญ่ จันทรเกษม ทั้งยังเป็นชื่อของกลุ่มเพื่อนที่ชอบฟังดนตรีเช่นเดียวกัน ผมถามพี่ชลด้วยความสงสัย “พี่เป็นนักฟังเพลงตัวยงหรือเปล่า?” พี่เขาตอบได้ทันทีว่า “ไม่เท่าไหร่ จริงๆ แล้วพี่เป็นคนชอบสะสมของเก่า ก่อนที่พี่จะมาขายแผ่นเสียง เคยขายเสื้อผ้าตรงนี้มาก่อนเกือบ 10 ปี ส่วนอาชีพหลัก เป็นข้าราชการ เสาร์-อาทิตย์ก็มาขายแผ่นเสียงเป็นอาชีพเสริม”
พี่เริ่มเก็บแผ่นเสียงได้ประมาณ 4 - 5 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนซื้อมาก็ขายไป ไม่ได้มาสะสมเหมือนตอนนี้ เพราะไม่มีเครื่องเสียง แต่พอมีเครื่องเสียงก็ได้เก็บแผ่นเสียงเยอะขึ้น บางแผ่นที่ชอบ ก็ซื้อเก็บซ้ำๆ ไว้เป็นจำนวนมาก สาเหตุการนำแผ่นเสียงออกมาปล่อยสู่ตลาดนั้น เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน  จึงเริ่มรู้สึกว่าแผ่นเสียงมีจำนวนมากขึ้น และกระแสคนเล่นแผ่นเสียงกำลังเป็นที่นิยม จึงคิดที่จะนำออกมาขายบ้าง เสน่ห์ของแผ่นเสียง คือคุณภาพเสียงดูเป็นธรรมชาติกว่าซีดี เพราะซีดีมันเป็นดิจิตอล เสียงสังเคราะห์ได้ไม่สุด อีกทั้งแผ่นเสียงยังคงมีความคลาสสิคมีความสดเหมือนศิลปะงานดนตรีในตัว 
การสนทนายังมีต่อไป พี่ชลเริ่มเล่าเรื่องความเป็นมาของแผ่นเสียงให้ฟังเรื่อยๆ ในสมัยก่อนแผ่นเสียงไวนิลทำออกมาขายกลุ่มคนค่อนข้างมีเงิน ราคากว่า 200 บาท อีกทั้งอุปกรณ์ในการเปิดมันจะมีหลายชิ้น ต่อมาเป็นยุคของเทปคาสเซ็ท แค่ซื้อเครื่องมาตัวเดียวก็เปิดได้ เมื่อก่อนราคาม้วนละ 50 - 60 บาท เห็นจะได้ พอยุคหลังจากเทปคาสเซ็ท คนเริ่มหันไปฟังซีดีกัน คนทำกิจการผลิตแผ่นเสียงไวนิลก็เลิกกิจการกันไป แต่สำหรับแผ่นเสียงที่ออกมาในยุคสุดท้ายก็เห็นก็จะเป็น โมเดิร์นด็อก
ตอนนั้น  โมเดิร์นด็อกไม่ได้ทำออกมาขาย แต่ทำออกมาเพื่อโปรโมทส่งตามสถานีวิทยุเท่านั้น 
“ในบรรดาลูกค้า ที่มาซื้อก็จะเป็นชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย มาซื้อเพลงไทยเก่าๆ หมอลำ ลูกทุ่ง เพราะเพลงลูกทุ่งเราไปดังในบ้านเขา ลูกทุ่งเก่าๆ ต่างชาติจะนิยมมากถ้าเป็นคนไทยส่วนมากที่มาซื้อนั้นจะค่อนข้างมีอายุ ถ้าเป็นวัยรุ่นหน่อยก็จะเป็นสายดีเจ จะมาซื้อแผ่นไปฟัง ไม่ก็ไปเก็บสะสม”
การขายแผ่นเสียงนั้นอาจจะเป็นธุรกิจที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน แต่สำหรับพี่ชลเขาหลงใหลเวลาที่ได้พูดคุยกับลูกค้า ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า เพราะส่วนมากพวกเพื่อนของพี่ชลจะเป็นนักฟังเพลงกันมากและจะเป็นคนที่นิยมเล่นของเก่าด้วย เมื่อพบคนที่มีความชอบเหมือนกันจะมีความสุขเป็นพิเศษ
“ขายแผ่นเสียงมีความสุขมากกว่าการขายเสื้อผ้า เพราะแผ่นเสียงเราได้ฟังดนตรี ได้พูดคุยกับคนหลากหลายในเรื่องของดนตรี มันทำให้เราทำงานสนุก”
ก่อนที่ผมจะเดินออกจากร้าน พี่ชลได้แนะนำแผ่นเสียงที่ประทับใจที่สุดสำหรับเขา ‘จอมใจจักรพรรดิ สวรรค์บางกอก’ผมใช้เวลาคุยกับพี่ชลเกือบชั่วโมง ทำให้รู้จักแผ่นเสียงไวนิลกับความคลาสสิคของมัน และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ชายคนนี้ในด้านความรักในเสียงเพลงกับความชอบในแผ่นเสียง หากท่านจะหาแผ่นเสียงหรือต้องการเพื่อนที่ชอบฟังดนตรีเหมือนกันลองไปเลือกซื้อเลือกชมหรือแวะไปพูดคุยกับพี่ชลได้ 
ที่มา : http://www.jr-rsu.net/article/1219

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น